10 นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังที่ไม่เขียนการ์ตูนก็สบายทั้งชาติ
13 สิงหาคม 2560 10:43 น.
Share on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+

Top_of_Japanese_Comicker_Cover

 

“อาชีพนักเขียนการ์ตูน” เป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คนที่อยากมีรายได้จากการเขียนผลงานการ์ตูนของตัวเองมาเลี้ยงชีพ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว… มันก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด  เพราะการที่จะมีรายได้จากการเป็นนักเขียนการ์ตูนนั้น  ต้องใช้ฝีมือและความมุ่งมั่นที่มากพอ จนกว่าจะไปถึงจุดนั้น… ในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศที่ส่งออกการ์ตูนไปทั่วโลก  ก็ยังมีนักเขียนที่ได้รับรายได้เลี้ยงชีพ จนกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงได้จริงๆ อยู่น้อยมาก  เมื่อเทียบกับจำนวนนักเขียนการ์ตูนทั่วประเทศ

 

 

บทความนี้จึงขอเสนอ “10 นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังที่ไม่เขียนการ์ตูนก็สบายทั้งชาติ”ซึ่งคัดเอานักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งผลงานและความนิยม  ส่วนจะมีใครบ้างนั้น… มาดูกันเลย

 

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของคนเขียนนะครับ)

 

 

 

 

ฮิโรฮิโกะ อารากิ (Hirohiko Araki)

 

Top_of_Japanese_Comicker_02

 

คนแรกเป็นนักเขียนการ์ตูนผู้ให้กำเนิดผลงานเรื่อง “โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ” ที่เขียนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1987 และไม่มีทีท่าว่าจะจบด้วย  การ์ตูนเรื่องโจโจ้  โดดเด่นในเรื่องของคาแรคเตอร์ในแบบเฉพาะตัว  รวมไปถึงมีพลังที่เรียกว่า “สแตนด์” ที่ถือเป็นรูปแบบของพลังอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

 

การ์ตูนเรื่องโจโจ้ ได้ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมชั่นทีวีซีรีส์ หนังคนแสดง แถมยังมีในรูปแบบของวีดีโอเกมออกมาก็หลายภาคอยู่  ซึ่งถ้าอาจารย์ฮิโรฮิโกะนึกอยากจะตัดจบการ์ตูนเรื่องนี้เมื่อไหร่  ก็ยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่มาจากผลงานของตัวเองไปอีกนาน…

 

 

 

 

มิอุระ เคนทาโร่ (Miura Kentarou)  

 

Top_of_Japanese_Comicker_03

 

นักเขียนรุ่นใหญ่วัยเก๋าที่แฟนๆ คนอ่านเฝ้าคอยติดตามผลงานของอาจารย์แกว่า “เมื่อไหร่จะออกเบอร์เซิร์กเล่มใหม่เสียที?” ซึ่งผลงานการ์ตูนเรื่องนี้อาจารย์มิอุระเขียนมาตั้งแต่ปี 1989 จนถึงปัจจุบันก็มีฉบับรวมเล่มมาแล้วถึง 39 เล่ม

 

 

เบอร์เซิร์กเป็นการ์ตูนที่ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะทีวีซีรีส์, ภาพยนตร์อนิเมชั่น และรวมไปถึงวีดีโอเกมอยู่หลายครั้ง  ส่วนตัวละครอย่าง “กัส” หรือ “กรีฟีส” ก็กลายเป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นตลอดกาลอีกด้วย  ถึงต่อให้อาจารย์มิอุระไม่เขียนการ์ตูนแล้ว   ก็ยังมีตังค์จากค่าลิขสิทธิ์ไปได้อีกนาน…

 

 

 

 

นาโอโกะ ทาเคอุจิ (Naoko Takeuchi)

 

Top_of_Japanese_Comicker_04

 

นักเขียนการ์ตูนผู้หญิงผู้ให้กำเนิดเหล่าอัศวินแห่งจันทรา “เซเลอร์ มูน” ตัวละครสาวๆ ที่คนอ่านคุ้นตากันเป็นอย่างดี… ซึ่งเซเลอร์ มูนก็มีจุดเด่นด้านคาแรคเตอร์ที่ชวนให้จดจำมาจนถึงปัจจุบัน  ถูกสร้างเป็นทั้งอนิเมชั่นทีวีซีรีส์, ภาพยนตร์คนแสดง  รวมไปถึงวีดีโอเกมมาก็เยอะ  แถมพวกเธอยังเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เสริมความงามของประเทศญี่ปุ่นหลายแบรนด์อีกด้วย 

 

 

เรียกได้ว่า… เจ๊แกต่อให้ไม่เขียนการ์ตูนแบบจริงๆ จัง ก็ยังสามารถได้เงินจากลิขสิทธิ์ตัวละครเวลาถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์อีกมากมายด้วย

 

 

 

 

เท็ตสึโอะ ฮาร่า (Tetsuo Hara)

 

Top_of_Japanese_Comicker_05

 

นักเขียนรุ่นใหญ่อีกหนึ่งคนของวงการการ์ตูนญี่ปุ่น  ผู้วาด “หมัดเพชฌฆาตดาวเหนือ” การ์ตูนรุ่นบุกเบิกของโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์  ซึ่งคาแรคเตอร์ของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นเอกลักษณ์อย่างมาก  เช่น “เคนชิโร่” หรือ “ราโอ” จนถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมชั่นและวีดีโอเกม  รวมไปถึงยังเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์แปลกๆ อย่าง “ถุงยางของท่านชาย” ก็เคยมาแล้ว  เรียกได้ว่า… ต่อให้ไม่เขียนการ์ตูนก็มีเงินจากค่าลิขสิทธิ์ตัวละครนั่นแหละ

 

 

 

 

คาซุกิ ทากาฮาชิ (Kazuki Takahashi)

 

Top_of_Japanese_Comicker_06

 

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครรู้จักกันไหม… แต่นักเขียนท่านนี้คือผู้วาดผลงานการ์ตูนเรื่อง “ยูกิโอ เกมกลคนอัจฉริยะ” นั่นเอง  ซึ่งในช่วงแรกการ์ตูนเรื่องยูกิโอที่เขียนลงในโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์  ต้องการให้มีการเล่นเกมให้เลือกอยู่หลายเกมในเรื่อง  แต่เกมที่ดังที่สุดกลับเป็น “การ์ดเกม” และแน่นอนว่าการ์ดเกมในการ์ตูนได้ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นการ์ดเกมที่เล่นได้จริงๆ และสร้างยอดขายเป็นกำไรที่มากพอจะทำให้ผู้ผลิตการ์ดเกมอย่าง KONAMI รับทรัพย์แบบอี้อซ่า 

 

 

แถมการ์ดยูกิยังมีคนเล่นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน  เป็นหนึ่งในการ์ดเกมที่มีคนเล่นมากที่สุดในโลก  เรียกได้ว่า… ต่อให้ไม่เขียนการ์ตูน  เจ้าตัวก็มีเงินจากค่าลิขสิทธิ์จากการ์ดเกมยูกิอยู่ได้สบายๆ เลยทีเดียว

 

 

 

 

มาซาชิ คิชิโมโต้ (Masashi Kishimoto)

 

Top_of_Japanese_Comicker_07

 

นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นเจ้าของผลงานการ์ตูนที่จะกลายเป็นตำนานให้คนอ่านต้องจดจำไปอีกนานอย่าง “นารูโตะ” เขียนลงในโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์  แม้ว่าตอนนี้อาจารย์แกยังคงอยู่ในวงการการ์ตูนอยู่  แต่ผลงานการ์ตูนเรื่องนารูโตะ ก็มีคาแรคเตอร์หลายตัวที่มีมูลค่ามากพอที่จะนำไปสร้างเป็นอนิเมชั่นหรือวีดีโอเกมต่างๆ ได้อีกนาน  จะไม่เขียนการ์ตูนจริงจังก็อยู่ได้สบายๆ

 

 

 

 

โกโช อาโอยาม่า (Gosho Aoyama)

 

Top_of_Japanese_Comicker_08

 

นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่วัยเก๋าของวงการอีกหนึ่งคน  กับผลงานการ์ตูนเรื่อง “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” ที่เขียนลงในโชเน็งซันเดย์รายสัปดาห์  ที่มีจำนวนเล่มออกมายาวนานถึง 93 เล่ม  เขียนอีกไม่กี่เล่มก็ครบร้อยเล่มล่ะ… ซึ่งโคนันนั้นเป็นการ์ตูนที่ไม่มีทีท่าว่าจะมีตอนจบ  เพราะเส้นไทม์ไลน์ของการ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีความแน่นอน  แถมยังไม่รู้ว่าองค์กรชายชุดดำในเรื่องนี้มีกันอยู่กี่คน? 

 

 

ถ้าวันดีคืนดีอาจารย์แกจะเลิกเขียนไปดื้อๆ โคนันก็ยังดำเนินเรื่องไปต่อได้อีก  เพราะยังมีเนื้อหาของภาคหนังโรงที่ออกฉายทุกๆ ปี  จะเรียกได้ว่า… อาจารย์ไม่ต้องเขียนการ์ตูน  เอาแค่วางบทคอนเซ็ปท์เรื่องอย่างเดียว  ก็ยังรับรายได้จากการ์ตูนเรื่องนี้ไปอีกนาน…

 

 

 

 

เออิจิโร่ โอดะ (Eiichiro Oda)

 

Top_of_Japanese_Comicker_09

 

นักเขียนการ์ตูนผู้เขียนผลงานเรื่อง “วันพีช”  ที่มุ่งมั่นต่อความเป็นนักเขียนการ์ตูนมากที่สุดของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ขอคารวะจากใจจริง  เพราะอาจารย์โอดะเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียนการ์ตูนจริงๆ เขียนอย่างยาวนานมาตลอดนับ 10 ปีจนคนอ่านที่ติดตามมาตั้งแต่เล่มแรกๆ ป่านนี้ลูกโตกันหมดแล้วมั้ง…

 

 

ซึ่งหากวันพีชจบลง… อาจารย์โอดะก็ไม่ต้องเขียนการ์ตูนแล้วก็ยังได้  เพราะยังไงๆ วันพีชก็จะนำเงินทองมาให้อาจารย์แกจากค่าลิขสิทธิ์ทั้งอนิเมชั่นและวีดีโอเกมไปอีกนานโขเลย

 

 

 

มาชามิ คุรุมาดะ (Masami Kurumada)

 

Top_of_Japanese_Comicker_10

 

นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่แห่งวงการผู้ให้กำเนิดสุดยอดการ์ตูนระดับตำนานเรื่อง “เซนต์ เซย์ย่า” ซึ่งเป็นผลงานที่มีคาแรคเตอร์เป็นจุดขายหลัก โดดเด่นที่ “ชุดเกราะ” ของเหล่าเซนต์ที่ตื่นตา  จนทำให้เซนต์ เซย์ย่าถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมชั่นทีวีซีรีส์, อนิเมชั่นหนังโรง, วีดีโอเกมอีกมากมาย แทบทุกปี… แถมเฮียแกไม่เขียนการ์ตูนแล้วก็ยังสามารถแต่งเรื่องและวางบทคอนเซ็ปท์เรื่องในนักเขียนท่านอื่นๆ เขียนต่อได้อีกด้วย 

 

 

 

 

โทริยาม่า อากิระ (Toriyama Akira)

 

Top_of_Japanese_Comicker_11

 

นี่คือนักเขียนการ์ตูนชื่อดังที่ทุกคนต้องรู้จักกันอย่างแน่นอน  ผู้ให้กำเนิด ดราก้อนบอล ผลงานการ์ตูนสุดอมตะของนิตยสารโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์  ตั้งแต่ปี 1989 จนถึง 1995 ด้วยจำนวนเล่ม 42 เล่มจบ  จากในตอนแรกที่อาจารย์โทริยาม่าตั้งใจจะให้ดราก้อนบอลเป็น “การ์ตูนแก๊ก” ขำๆ ไม่ซีเรียส  มาเป็นการ์ตูน Action เต็มรูปแบบ  ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้กลายเป็น“ตำนานค้างฟ้า” ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้…

 

 

แม้การ์ตูนเรื่องดราก้อนบอลในฉบับรวมเล่มที่อาจารย์โทริยาม่าจะจบไปนานแล้ว  แต่เรื่องราวของจักรวาลดราก้อนบอลไม่ได้สิ้นสุดตามหนังสือไปด้วย  ดราก้อนบอลถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมชั่นทีวีซีรีส์และหนังโรงอยู่หลายภาค  ถูกนำมาสร้างเป็นวีดีโอเกมอีกมากมาย  เรียกได้ว่าความนิยมยังมีอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน   แถมคาแรคเตอร์ยังสามารถนำมาขายเป็นสินค้าได้อีก  อ้อ… อาจารย์โทริยาม่ายังรับรายได้จากการออกแบบคาแรคเตอร์ให้กับวีดีโอเกมดังอย่าง Dragon Quest อีกด้วยนะ

 

 

========================

 

 

และนี่ก็เป็นนักเขียนที่คิดว่าถ้าการ์ตูนเขียนจบเมื่อไหร่ก็กินลิขสิทธิ์ยาวทั้งชาติ  หากมีนักเขียนในดวงใจของใครคนไหนอย่างจะเสนอมาได้นะครับ 

 

 

@Save สาย Pay