[รีวิว] BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า
19 มกราคม 2567 11:00 น.
Share on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+

BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า (3)

BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า (⼈気ジャズ漫画)

ประเภท แอนิเมชั่น / ดรามา / เพลง

ให้เสียงพากย์โดย ยูกิ ยามาตะ, โชทาโร มามิยะ, อามะเนะ โอคายามะ

เขียนโดย :ชินอิจิ อิชิซูกะ
กำกับโดย :ยูซูรุ ทาจิกาวะ
เขียนบทโดย : Number 8
ดนตรีโดย : ฮิโรมิ อูเอฮาระ

ความยาว 120 นาที

เปิดรอบพิเศษ เดบิวต์ฝันก่อนใคร 19 – 21 มกราคมนี้

ฉายจริง 25 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

ตัวอย่างพากย์ไทย

 

 

ได มิยาโมโตะ นักเรียนมัธยมปลายอดีตนักบาสเก็ตบอล ผู้หลงไหลใฝ่ฝันดนตรีแจ๊สเขายืนหยัดเป่าแซ็กโซโฟนเพียงลำพังที่คาวาอาระยาวนานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทุกวันทุกคืน ไม่ว่าจะฝนตกแดดออก ไครมาที่นี่ก็จะพบเขายืนเป้าแซ็กอยู่ตรงนั้น “วันหนึ่งฉันจะต้องเป็นนักดนตรีแซ็กโซโฟนมือหนึ่งของโลก…!!” ตำนานอันยิ่งใหญ่เริ่มต้นขึ้นที่แม่น้ำฮิโรเสะคาวะ จังหวัดเซนได…เขาถึงกับเดินทางออกมาจากบ้านเกิดเพื่อทำงานในไนท์คลับในโตเกียว แต่ชีวิตของนักดนตรีอาชีพก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด จนเมื่อเขาสามารถฟอร์มวงดนตรีแจ๊สสามชิ้นที่เอาชนะใจผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว

 

BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า (3)

ยูกิ ยามาตะ พากย์เป็น ได มิยาโมโตะ
โชทาโร มามิยะ พากย์เป็น ยูกิโนริ ซาวะเบะ
อามะเนะ โอคายามะ พากย์เป็น ชุนจิ ทามะดะ

 

 

REVIEW

 blue giant Rw2

ดุเดือด ใจฟู พลุ่งพล่าน งดงาม มันส์แบบหลังไม่ติดเบาะ และต้องไปดูในโรงเท่านั้น
เชื่อว่า Experience ที่คุณจะดื่มด่ำกับ Jazz แบบเต็มสโตรค โฮมเธียร์เตอร์ที่ไหนก็ให้คุณไม่ได้

————————

ตัวอนิเมชั่นความยาว 2 ชั่วโมงเต็มจุกๆ ที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่เล่ม 1 – จบภาค

โดยจะเล่าเรื่องของ ได ชายหนุ่มผู้มีความฝันจะเป็นนักเป่าแซกโซโฟนมือ 1 ของโลก เดินทางเขามาโตเกียวเพื่อตามฝัน และได้ฟอร์มทีมตั้งวง “JASS” ขึ้นมา และในตอนนี้ ก้าวแรกของพวกเขา ก็คือการทำให้คนยอมรับในฝีมือ และก้าวเข้าไปเล่นในผับใหญ่ที่สุด “So Blue” ที่ว่ากันว่าเป็น “โตเกียวโดมของวงการเพลงแจ๊ส”

การเดินเรื่อง จะเอื่อยๆ เนือยๆ เล่าช้าๆ Slow Burn ไปเรื่อยๆในพาร์ทจังหวะชีวิต ซึ่งสวนทางกับพาร์ทดนตรี ที่โคตรดุเดือด มันส์สะเด่าลำไส้ ทุกครั้งที่เพลงของกลุ่มตัวเอกบรรเลง ใครที่ชื่นชอบเพลงแจ๊สสไตล์ Free jazz หรือ Free Form เน้นการด้นสด หรือ Improvise ในพาร์ทโซโล่ มีหลังไม่ติดเบาะแน่ๆ

ซึ่งมาดู End Credit ก็ไม่ต้องแปลกใจเลย เพราะตัวภาพยนตร์ได้ทาง คุณ ฮิโรมิ อูเอฮารา มาดูแลงานเพลง และยังโซโล่เปียโนเองด้วย ทำให้จังหวะขึ้น Solo Improvise ของแต่ละเพลงในเรื่อง มันส์มากๆ จังหวะแซกโซโฟนขึ้นไฮโน้ตที่ลากยาวจนสุดเสียง / เปียโนท้ายเรื่องคือฟังรู้เลยว่าเล่นคีย์ต่ำรัวๆ แต่เอาคนดูอยู่สุดๆตอนโซโล่ / กลองในเรื่องจังหวะฉายแสง คือโม้จัดๆ ดุดันไม่เกรงใจใคน ไหนในเรื่องบอกว่าหัดเล่นดนตรีได้ 8 เดือน แถมยังผ่อนไม่หมดด้วย เทพเกิ๊น 555+

————

20 นาทีสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเหมือนศึกระหว่าง คนทำเพลง กับคนดูอย่างแท้จริง ทุกเรื่องราวที่ตึงดึงดราม่า ผสานกับการเล่นดนตรีที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และถ่ายทอดออกมาได้สุดพลัง
ซึ่งพอมารวมกับพาร์ทเนื้อเรื่องเนือยๆแล้ว ถือว่าโอเคมากๆ

เพราะถ้าเนื้อเรื่องเดือด เพลงเดือด คนดูอาจจะไม่ได้มีจังหวะได้พักหายใจ เดี๋ยวจะทำให้ 2 ชั่วโมง ดูเฝือ และล้นเกินไป
เหมือนที่ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายๆเรื่องชอบยัดเอามันส์ แล้วกลายเป็นว่าตึงทั้งเรื่องจนคนดูไม่เอนจอยกับสิ่งที่ต้องการสื่อไปซะอย่างนั้น….
เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมที่แอดฯกล้ายกขึ้นแท่นเป็น Masterpiece ของปีนี้ได้อย่างไม่เคอะเขินครับ

[แอดมิน AK47]

 

 

————–

blue giant
ความเห็นจากอดีตนักดนตรี -แอดมิน SAOJUNG-
 
เรียกได้ว่าส่วนตัวยกให้เป็น Anime ที่ดีมากเรื่องนึง มีหลายอารมณ์ครบรสมากๆจริงๆ ทั้งการเติมเต็มความฝัน ความสนุก บทเพลงดนตรี ดราม่า และมิตรภาพ เรียกได้ว่าคุ้มค่าดูจริงๆ แนะนำเลยครับ
 
————
 
เรื่องนี้เหมาะสำหรับคนที่มีความฝันหรือคนรักในดนตรี
ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือคนที่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อนก็สามารถดูรู้เรื่องสนุกไปด้วยได้ ทั้งบท หรือเสียงดนตรี การันตีเลยว่าสนุกจนขนลุก หรือซึ้งในมิตรภาพของกลุ่มเพื่อนจนน้ำตาไหลได้
ถ้าเป็นคนไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อนอาจจะสงสัยบางจุดหรือไม่อินในเรื่องเช่น ทำไม มิยาโมโตะ ได นิ้วถึงมีแผลหรือหนังด้านบริเวณนิ้วใหญ่จัง หรือทำไมการที่เค้าจะขึ้นแสดงดนตรีเวทีใหญ่ทำไมต้องฟิตร่างกายวิ่งเยอะมากๆเพื่อฝึกปอดและหัวใจให้แข็งแรง ซึ่งส่วนตัวผมเคยเล่นดนตรีเครื่องเป่ามาก่อน (euphonium) และฝึกซ้อมหนักระดับนึง เลยค่อนข้างจะอินกับความพยายามจุดนี้ของพระเอกว่าแบบ
“เออเราก็เคยผ่านจุดนี้มาแล้วเหมือนกันแหะ”
 
เพราะตอนเราเล่นดนตรีปัญหาที่พระเอกเจอ เราก็เจอเหมือนกัน “เพราะทุกความพยายามอาจไม่นำพามาซึ่งความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จล้วนเกิดจากความพยายาม”
 
และในเรื่องนี้ ได ก็เป็นคนนึงที่พยายามจนประสบความสำเร็จได้ แต่ระหว่างทางนั้นก็เจอปัญหาต่างๆมากมายให้สนุกและน่าติดตามลุ้นไปด้วยมากจริงๆ
 
 
 
สิ่งที่ประทับใจในเรื่องขอแบ่งเป็นหัวข้อนะครับ
 
1.บทเพลงที่ใช้ในเรื่อง
ต้องบอกว่าเป็น Jazz ที่รู้สึกขนลุก ดุดัน และสนุกกับเสียงเพลง โดยเฉพาะฉาก Solo ของแต่ละเครื่องดนตรีที่มีการ Improvise แบบคาดไม่ถึง (ถ้าไม่ฟังในยูทูปมาก่อน) ทำให้รู้สึกสนุกมากๆไปกับบทเพลงเฉยเลย
————
2.มิตรภาพในเรื่อง มีสปอยนิดนึง
คือต้องบอกว่าในเรื่องนี้ มือกลองของวง เป็นคนสุดท้ายที่เข้ามาในวงและเป็นมือใหม่ ไม่เคยจับเครื่องดนตรีมาก่อน
แต่เพราะได้ฟังเพื่อน เล่นแซกโซโฟนให้ฟัง และรู้สึกสนุกประทับใจมากจนเริ่มต้นอยากตีกลอง
แต่แน่นอนอยู่แล้ว การตั้งวงระหว่างคนเริ่มนับ1 กับคนที่มีประสบการ์ณอยู่แล้วมันไม่ได้ง่ายเลยในการจะบรรเลงให้เป็นเพลง แต่เพื่อนในวงก็คอยช่วยแนะนำและให้กำลังใจ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราขึ้นแสดงครั้งแรกและเราเล่นดนตรีพลาด และไม่สามารถเล่นต่อได้ เป็นใครก็คงรู้สึกผิดที่คิดว่า เราเป็นคนทำให้วงล่มได้และรู้สึกอยากจะออกจากวง แต่เพื่อนที่มีประสบการ์ณเล่นดนตรีก็ไม่เคยโทษมือกลองเลย กลับกันคอยให้กำลังใจและให้โอกาสซ้อม และช่วยกันพัฒนาด้วยกันเสมอ
————
3.กำลังใจจากผู้ชม
ต้องบอกว่าวงที่พึ่งตั้งใหม่ หรือแสดงครั้งแรก เป็นปกติที่จะมีคนมาชมการแสดงน้อย ทุกอย่างคือประสบการ์ณ
ฉากที่ทำให้ร้องไห้น้ำตาซึมเลยคือ การที่เราพยายามอย่างเต็มที่ และมีเพียงคนนึงเดินมาบอกเราคำสั้นๆแค่คำว่า “เราดูการแสดงของคุณตั้งแต่ครั้งแรกนะ มาวันนี้ได้ดูอีกครั้งแสดงเก่งขึ้นเยอะเลยนะ”
มันคือกำลังใจอย่างดีที่บอกว่า ความพยายามของเราไม่สูญเปล่าและส่งไปถึงผู้ฟังได้แล้ว
————
4.กำแพงของคนเก่งที่วันนึงทุกคนต้องเจอ
ในเรื่องนี้นักเปียโนของวงซึ่งมีประสบการ์ณเล่นเปียโนมาถึง14ปี ซึ่งแน่นอนว่าเล่นได้อย่างชำนาญมากๆ และดนตรีในท่อน Solo นั้น ไม่แปลกที่จะมีการใส่ Improvise เข้าไป
แต่กำแพงของคนเก่งในเรื่องนี้คือ ทุกการ Solo ของเค้า กลับมี รูปแบบเดิมๆไม่มีอะไรแปลกใหม่ เหมือนถึงทางตันมีรูปแบบที่ตายตัว
ซึ่งสำหรับผู้ชมแล้วการมารับชมแบบนี้ก็ไม่ต่างกับการดูหนังเดิมซ้ำๆ ไม่สามารถทำให้รู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกได้ มันคือสิ่งที่นักเปียโนคนนี้ต้องหาทางก้าวข้ามไปให้ได้
ทั้งหมดทั้งมวล จึงทำให้ BLUE GIANT ถูกใจนักดนตรี อย่างผมมากๆ มันทัช และทำงานกับผมทั้งพาร์ทดราม่า และพาร์ทดนตรี ขึ้นหิ้งได้เลยครับ!
ว่าแล้วหยิบคู่หูมาเป่าเล่นบ้างดีกว่า…
 
แอดมิน SAOJUNG

 

 

 

 

blue giant

เจาะลึกอนิเมะ ‘BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า’

จากผู้กำกับ ทาจิคาวะ ยุซุรุ

 

 ―― โดยส่วนตัวแล้ว ผู้กำกับทาจิคาวะรู้สึกชอบในจุดใดของผลงานต้นฉบับ

ผมเพิ่งจะอ่านต้นฉบับก็ตอนที่มีการติดต่อจ้างงานเข้ามา ซึ่งต้องยอมรับว่ากระทั่งคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแจ๊สเลยยังสนุกจนวางไม่ลง อ่านรวดเดียวจนจบ แม้เนื้อหาพูดถึงเกี่ยวกับดนตรีแจ๊ส แต่ก็ไม่ลืมสอดแทรกเสน่ห์ภายในตัวมนุษย์ และนำเสนอภาพการเติบโตของตัวละครในแบบที่ไม่ว่าใครก็เข้าใจได้ รวมถึงรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราว นี่ละจุดเสน่ห์จุดใหญ่ของผลงานเรื่องนี้

 

blue giant 03

 ―― คิดอย่างไรเกี่ยวกับการที่จะต้องนำเนื้อเรื่องต้นฉบับซึ่งเป็นเรื่องยาวมาสรุปย่อ

แต่ละตอนแต่ละบทล้วนมีเสน่ห์แตกต่างกัน ดังนั้นผมจึงคิดเผื่อไว้ก่อนเลยว่าการนำมาสรุปย่อเป็นภาพยนตร์ความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงน่าจะเป็นเรื่องยากเอาการ แต่อาจารย์อิชิซึกะบอกผมไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าถ้าเป็นภาพยนตร์จอเงินละก็ น่าจะช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสเสียงดังกระหึ่มประหนึ่งกำลังชมคอนเสิร์ต ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่โทรทัศน์ไม่สามารถทำได้ หลังจากนั้นผมมีโอกาสชมการแสดง “BLUE GIANT NIGHTS 2019” (การแสดงไลฟ์แจ๊สซึ่งเป็นการจับมือทำงานร่วมกับ “BLUE GIANT” โดยจัดขึ้นที่ BLUE NOTE TOKYO) และแน่นอนว่าผมไม่ลืมเก็บข้อมูลไปด้วยเลยในตัว การนั่งอยู่แถวหน้าสุด ทำให้ผมแทบจะได้ยินเสียงหายใจของนักแสดง มิหนำซ้ำน้ำในแก้วที่อยู่ข้างตัวยังสั่นตลอดเวลาเพราะเสียงดนตรี การได้มาสัมผัส “พลัง” ของเสียงด้วยตัวเอง ได้ประจักษ์ถึง “แจ๊สที่มีทั้งความร้อนแรง ทั้งทรงพลัง” ระหว่างการแสดง ช่วยให้ผมเข้าใจแก่นแท้ของผลงานเรื่องนี้ได้ดีขึ้นมากทีเดียว และผมคิดว่าการใส่เรื่องราวอันน่าทึ่งและอารมณ์ความรู้สึกของเหล่าตัวละครอย่างเช่นพวกไดลงในภาพยนตร์ ให้สอดประสานกับเนื้อหาและดนตรี ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 

blue giant 02

 ―― ผู้รับผิดชอบด้านบทภาพยนตร์ ก็คือ NUMBER 8 ซึ่งเป็นทั้งบรรณาธิการและ story director ที่เข้ามารับช่วงต่อใน “BLUE GIANT SUPREME”
จะให้ภาพยนตร์เริ่มต้นจากตรงไหน จะเลือกหยิบตอนใดขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์นี่ละคือเรื่องยาก อีกทั้งยังต้องตัดบทพูดต้นฉบับบ้างละ เสริมบทพูดบ้างละ ดังนั้นการได้ NUMBER 8 ซึ่งรู้จักบุคลิกนิสัยของพวกไดดียิ่งกว่าใครเข้ามามีส่วนร่วมจึงถือเป็นเรื่องดีมากจริง ๆ ทั้งนี้ บทพูดในภาพยนตร์จะตรงไปตรงมาและสมจริงมากกว่าในต้นฉบับ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกอินกับตัวละคร รู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตจริง นอกจากนี้ ผมยังตระหนักถึงประเด็นซึ่ง NUMBER 8 เคยพูดไว้ว่า “ต่อให้ความเห็นไม่ลงรอยกัน แต่ใน 3 คนนี้ไม่มีใครผิด ไม่ว่าได ยูกิโนริ หรือทามาดะ” ระหว่างขั้นตอนการสร้างฉาก ซึ่งการบอกเล่าเรื่องราวการปะทะความคิดของคน 3 คนที่ต่างคนต่างก็มีส่วนถูก และค่อย ๆ เติบโตไปด้วยกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นที่สะท้อนให้เห็นภาพปกติในชีวิตจริงของเรา

 

 ―― จัดสร้างฉากโดยจินตนาการถึงตัวละครที่ชื่อไดในลักษณะไหน?

โครงสร้างของภาพยนตร์เริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่ไดมาโตเกียว ซึ่งการถ่ายทอดให้ผู้ชมเข้าใจว่าไดเป็นคนแบบไหนนี่ละนับเป็นโจทย์ยาก โดยปกติแล้วผมจะนำความขัดแย้งกันเองในใจที่ตัวละครเอกกอดเก็บไว้มาประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันน่าทึ่ง แต่ในตัวไดที่เดินทางมายังโตเกียวกลับแทบไม่มีองค์ประกอบข้อนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงต้องปรับเปลี่ยน นำ “ความเข้มแข็ง” ที่เจ้าตัวมีอยู่ขณะบอกกับตัวเองว่า “จะต้องเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้” มาใช้เป็นสารตั้งต้นแทน แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้ไดผู้เปี่ยมด้วย “ความเข้มแข็ง” นั้นชูตัวละครอื่น ๆ เช่นยูกิโนริและทามาดะซึ่งต่างก็ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของปัญหาขึ้นมา ตอนเปิดเรื่องจะเห็นได้ว่ามีแมวจรจัดเดินกลางหิมะ หากจะเรียกว่าตรงนี้เป็นจุดที่ผมสอดแทรกคาแรคเตอร์ของตัวละครชื่อไดกับทิศทางของภาพยนตร์เอาไว้ก็คงไม่ผิดนัก และที่สำคัญ ผมเชื่อว่าคุณยามาดะ ยูกิจะสามารถดึงความใสซื่อประสาคนต่างจังหวัดที่เดินทางมาจากเซนไดของไดออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้ตัวละครเอกตัวนี้มีเสน่ห์น่าติดตามได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 ―― อยากให้ใครมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้?

เวลาเห็นใครสักคนมุ่งมั่นเดินหน้าอย่างไม่ย่อท้อ ความรู้สึกเช่นว่า “น่าชื่นชมชะมัด” หรือ “เท่เป็นบ้า” มักเกิดขึ้นในใจเรา ซึ่งการคิดหรือรู้สึกเช่นนั้นนี่ละคือสิ่งสำคัญยิ่ง และคงไม่มีอะไรน่าปลื้มเกินกว่าการได้รู้ว่า “ผู้ซึ่งมีสิ่งที่อยากทำแต่ทำไม่สำเร็จสักที” “ผู้ซึ่งกำลังค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” หรือ “ผู้ซึ่งกำลังจะหลงลืมสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” ได้ชมภาพยนตร์แล้วเกิดความคิดเช่นว่า “อื้ม ชักมีแรงฮึดขึ้นมาแล้วสิ” ขึ้นในใจ

 

 

blue giant 05

ทาจิคาวะ ยุซุรุ (ผู้กำกับภาพยนตร์) เกิดเมื่อค.ศ.1981 เคยผ่านการทำงานกับ แมดเฮ้าส์ (MADHOUSE Inc.) สตูดิโอแอนิเมชันที่ฝากผลงานเลื่องชื่อเอาไว้มากมาย โดยได้มีส่วนร่วมทั้งในงานด้านการจัดฉากและงานกำกับตั้งแต่เพิ่งเข้าทำงานเพียงไม่นานสมัยอยู่กับแมดเฮ้าส์ รวมถึงประพันธ์ เขียนบท และกำกับ “เกมมรณะ : Death Parade”

 

ในค.ศ. 2018 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับซีรีส์ “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” ฉบับภาพยนตร์ โดยในผลงาน “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน: ปฏิบัติการสายลับเดอะซีโร่” ฉบับภาพยนตร์ทำรายได้ทะลุ 918 ล้านเยนซึ่งถือเป็นรายได้สูงสุดในบ็อกออฟฟิศขณะนั้น

 

และตามด้วยการกำกับผลงานแอนิเมชันฉายทางโทรทัศน์ฉบับออริจินอลแท้เรื่อง “ปราการแดนปิศาจ : DECA-DENCE” ในค.ศ. 2020

ปัจจุบัน ผลงานกำกับเรื่องใหม่ล่าสุด ซีรีส์แอนิเมชันฉายทางโทรทัศน์ “ม็อบไซโค 100 คนพลังจิต : Mob Psycho 100” อยู่ระหว่างออกอากาศ

และยังมี “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน: มฤตยูใต้น้ำทมิฬ” ฉบับภาพยนตร์ซึ่งออกฉายในค.ศ. 2023 ด้วย

 

BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า (2)

 

บลูไจแอนต์ (BLUE GIANT) เป็นซีรีส์มังงะญี่ปุ่นเกี่ยวกับดนตรีแจ๊ส แต่งเรื่องและวาดภาพโดยชินอิจิ อิชิซูกะ ตีพิมพ์ในนิตยสารบิ๊กคอมิกส์ของสำนักพิมพ์โชงากูกังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ถึงสิงหาคม พ.ศ. 2559 รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือมังงะรวมเล่มทั้งหมด 10 เล่ม

 

มังงะมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยโดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ ซีรีส์มังงะภาคต่อชื่อเรื่องว่า บลูไจแอนต์ ซูพรีม (BLUE GIANT SUPREME) ตีพิมพ์ในนิตยสารบิ๊กคอมิกส์ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ถึงเมษายน พ.ศ. 2563 รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือมังงะรวมเล่มทั้งหมด 10 เล่ม

 

ซีรีส์มังงะซีรีส์ภาคสามชื่อเรื่องว่า บลูไจแอนต์ เอกซ์โพลเรอร์ (BLUE GIANT EXPLORER) เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารบิ๊กคอมิกส์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ภาพยนตร์อนิเมะดัดแปลงผลิตโดยสตูดิโอนัตมีกำหนดฉายในประเทศญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 

 

 

 BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า (1)

แจ๊สญี่ปุ่น 日本のジャズ (นิฮงโนะจาสุ)
สุนทรียภาพทางดนตรีอีกแนวที่น่าหามาฟัง
 
ใครที่ไปญี่ปุ่น จะพบว่า ตามเมืองใหญ่ๆ หรือที่ๆมีคนเยอะๆ จะต้องมีผับ บาร์มากมายหลากหลายแนว…และเพลงแจ๊ส คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อเพิ่มสุนทรียภาพในการพักผ่อนจากการตรากตรำทำงานมาทั้งวัน ซึ่งเราก็รู้กันว่า ประเทศนี้ ความเครียดค่อนข้างสูง ทำให้สิ่งบันเทิงเริงใจในบ้านเค้า จึงต้องเป็นสิ่งที่มีหลากหลายแนวทางตามความชื่นชอบที่แตกต่างกัน
 
ซึ่งที่ญี่ปุ่นเอง สามารถนับได้ว่าเป็นประเทศที่สัดส่วนของคนที่เสพดนตรีแจ๊สมากเป็นเบอร์ต้นๆของโลก ที่ญี่ปุ่นเองก็มีคลับแจ๊สชื่อดังเป็นจำนวนมาก นักดนตรีเก่งๆของญี่ปุ่นหลายคนได้ถือกำเนิดจากคลับบาร์เหล่านี้ เข้าสู่วงการดนตรี ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังมากมาย
 
เพลงสไตล์แจ๊สของญี่ปุ่น แว่วๆว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 1910 (ช่วงยุคไทโช-นึกไม่ออกก็ทันจิโร่ดาบพิฆาตอสูรนั่นละ) โดยเรือเดินสมุทร ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งได้เหล่านักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ ที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีแจ๊สมาเผยแพร่ ซึ่งมีการทำแผ่นเสียงออกมาด้วย เช่น The Sheik of Araby ของ Harry B. Smith , My Blue Heaven ของ Gene Austin ในปี 1921 และมีการแปลเพลงดังกล่าวเป็นภาษาญี่ปุ่น
 
 BLUE GIANT เป่าฝันให้เต็มฟ้า (1)
ดนตรีแจ๊สมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นดนตรีของกลุ่มคนมีฐานะในญี่ปุ่น ที่มักเล่นในไนท์คลับ สถานบันเทิงต่างๆ
 
ในฐานะดนตรีต่างชาติ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ชนชั้นสูงสายอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่น และในปี 1927 เจ้าหน้าที่เทศบาลโอซาก้า ถึงกับออกกฎที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องปิดคลับ เนื่องจากอาจจะขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ
 
ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้นักดนตรีจำนวนมาก เปลี่ยนมาเล่นดนตรีแจ๊สในโตเกียว บางคนได้งานทำในวงออร์เคสตรา ที่บรรเลงเพลงแนวแจ๊ส ประจำบริษัทบันทึกเสียงรายใหญ่
แล้วดนตรีแจ๊ส ก็กลายเป็นของต้องห้ามจริงๆ ก็ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และกลับมาอีกครั้ง หลังสงครามในช่วง 1970
 
ด้วยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นฟูจากความสูญเสีย ก็ได้ปูทางให้นักดนตรีแจ๊สชาวญี่ปุ่นได้สร้างผลงานจนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ พร้อมด้วยแนวดนตรีใหม่ๆ เช่น ซิตี้ป๊อป /และ ดนตรีโฟล์คซองญี่ปุ่น
 
 blue giant 04
 
นักดนตรีแจ๊สชาวญี่ปุ่นก็เริ่มวิวัฒนาการ และทดลองใช้แนวทางของ “ฟรีแจ๊ส” (แจ๊สเกือบด้นสด ยุโรปเรียก “free improvisation”) / แนว “แจ๊สบีบ๊อบ” ที่มีเอกลักษณ์จากเครื่องดนตรีน้อยชิ้น แต่เน้นคาแรคเตอร์ของนักดนตรีแต่ละคน สิ่งเหล่านี้ทำให้เสียงเพลงแจ๊สของญี่ปุ่นมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ในช่วงทศวรรษ 1980 เทคโนโลยีดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ก็เริ่มมีอิทธิพลต่อวงการดนตรีแจ๊สของญี่ปุ่นเสริมเข้ามาอีก
 
นักดนตรีแจ๊สร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ฮิโรมิ อูเอฮาระ , Kyoto Jazz Massive, United Future Organization, Soil & “Pimp” Sessions, และ Fox Capture Plan รวมไปถึงนักดนตรีแจ๊สฝั่งอเมริกาและยุโรปที่มาอาศัยในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย
 
ส่วนวงดนตรีแจ๊สกึ่งอิเล็กทอรนิกส์ ญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสูงได้แก่ คาสิโอเปีย (Casiopea) ที-สแควร์ (T-Square) เป็นต้น (แต่หลังๆออกไปทางอิเล็กทรอนิกส์ซะเยอะ)
 
ในปัจจุบัน โตเกียวยังคงเป็นฐานของชุมชนดนตรีแจ๊สเล็กๆ แต่เหนียวแน่น มีนักดนตรีหน้าใหม่ๆเข้าสู่วงการตลอดเวลา…

 

#BLUEGIANT #เป่าฝันให้เต็มฟ้า

 

เปิดรอบพิเศษ เดบิวต์ฝันก่อนใคร 19 – 21 มกราคมนี้

ฉายจริง 25 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์