Gunpla Tips#4 แอร์บรัช, ไล่เฉดสี , ติดไฟ LED
07 มิถุนายน 2558 02:03 น.
Share on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+

กันพลา หรือ Gundam Plastic Model ถือเป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่ง ที่นอกจากผู้ต่อหุ่นจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกของตัวหุ่นที่ซับซ้อนแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นงานศิลปะชั้นสูง ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้จากการจัดการจัดงานประกวดผลงานการต่อหุ่นประเภทนี้ ที่ผลงานแต่ละชิ้นมีความสวยงามเกินกว่าจะเป็นของเล่นพลาสติกธรรมดา

 

 

 

และในบทความนี้ทีมงานเมทัลบริดจะมาแนะนำเทคนิคเบื้องต้นที่จะทำให้หุ่นพลาสติกกันดั้ม ดูสวยงามสมจริงมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับมือใหม่ที่พึ่งเริ่มต่อกันดั้ม ผมขอแนะนำว่าให้ฝึกจากเทคนิคพื้นฐานก่อนครับ 

 

Gunpla Tips#1 เทคนิคการต่อหุ่นกันดั้มเบื้องต้น Click

 

Gunpla Tips#2 เพิ่มความสมจริงด้วยการแกะลาย, ปิดรอยประกบ, สีพู่กัน, สีปากกา Click 

 

Gunpla Tips#3 เสริมพาร์ทด้วย Epoxy Putty , Plaplate 

 

Gunpla Tips#5 การยืดสัดส่วน เพิ่มความสูงของกันพลา

 

Gunpla Tips#6 weathering /เทคนิคทำสีเสมือนจริง / สนิม

 

Gunpla Tips#7 Diorama /เทคนิคทำฉาก / แขวนหุ่นลอยได้

 

ในบทความนี้จะเป็นเรื่องของการดัดแปลงโครงสร้างภายในเพื่อติดตั้งระบบไฟ LED ส่องแสงสว่างจากภายใน ให้ตัวหุ่นมีลักษณะเหมือนกำลังเปิดโหมดการทำงานเหมือนในการ์ตูน นอกจากนั้นจะทำสีให้ตัวหุ่นด้วยแอร์บรัช ซึ่งถือเป็นเทคนิคระดับสูงที่ต้องอาศัยทักษะด้านศิลปะและการผสมสีในเทคนิคนี้ เพื่อเปลี่ยนหุ่นตัวเดิม ให้กลายเป็นสีใหม่ที่ถูกใจกว่าเดิม และยังเพิ่มการไล่เฉดสีทำแสงเงาให้ตัวหุ่นดูมีมิติสมจริงมากยิ่งขึ้น

 

 

1100-gundam-double-x-review-(14)

หุ่นที่จะมาเป็นแบบในครั้งนี้คือ MG 1/100 Gundam Double X ซึ่งหุ่นแบบเดิมๆจะมาในโทนสี ขาว และน้ำเงินเข้ม ซึ่งไม่ค่อยสวยถูกใจเท่าไร และจากเนื้อเรื่องที่หุ่นตัวนี้จะรับพลังงานแสงไมโครเวฟจากดวงจันทร์มาแปลงเป็นพลังงานโจมตีที่รุนแรง แต่โครงสร้างของหุ่นหลังจากต่อเสร็จกลับไม่มีจุดใส่ไฟ LED แต่อย่างได้ จึงเกิดไอเดียที่จะดัดแปลงการเดินไฟเพิ่มเติมให้กับหุ่นตัวนี้ ใครสนใจชมสภาพเดิมๆ ตามไปดูได้ Click 

 

 

วางแผนการเดินสายไฟ

การเดินสายไฟในตัวหุ่นนั้น จำเป็นต้องใช้หุ่นที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ในการสร้างพื้นที่การเดินสายไฟในตัวหุ่น จึงไม่เหมาะที่จะทำกับหุ่นขนาดเล็ก 1/144 หรือรุ่น HG และ RG ซึ่งการต่อหลอดไฟ 1 ดวงจำเป็นต้องใช้สายไฟ 2 เส้นคือขั้วบวกและขั่วลบ ซึ่ง MG Double X ตัวนี้จะทำการติดไฟทั้งหมด 2 ชนิดคือ LED ดวงเล็กบริเวณหัวและอก 4 ดวง และไฟแบบ LED Line บริเวณปีกอีก 6 เส้น รวมแล้วต้องเดินสายไฟทั้งหมด 20 เส้น (เยอะมาก) โดยไฟทุกดวงจะปรับความต้านทานให้สามารถใช้ไฟจากหม้อแปลง 12 โวลต์เท่ากันหมด

 

gunpla-tips-4-1a 

วางโครงสร้างเดินสายไฟจากปีกข้างละ 6 เส้นมารวมเข้าด้วยกันก่อน โดยแยกขั่วบวกและลบ ทำให้เหลือสายไฟข้างละ 2 เส้น แล้วนำทั้ง 2 ข้างมารวมกันจนเหลือสายไฟจากปีกทั้งหมดเพียงแค่ 2 เส้นแล้วนำมาโยงรวมกับไฟส่วนหัวและอกตรงส่วนท้องเพื่อส่งสายไฟออกไปยังหม้อแปลงที่กระโปรงหลังของตัวหุ่น

 

 

 

ผ่าตัดช่องทางเดินสายไฟ

 gunpla-tips-4-2

จากโครงสร้างที่วางแผนเอาไว้ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ว่างบริเวณอกเกือบทั้งหมดเพื่อบรรจุหลอดไฟ 3 ดวง จึงจำเป็นต้องคว้านโครงด้านในออกเกือบหมด เหลือไว้แค่เดือยประกบ 4 จุดเท่านั้น

 

 

 

gunpla-tips-4-Mini Drill

สำหรับลวดลายเล็กๆตรงหน้าอก จำเป็นต้องเจาะช่องให้แสงทะลุผ่านออกมาได้ สามารถเจาะได้โดยใช้ดอกสว่านหัวเล็กๆประมาณเข็ม ซื้อได้ที่ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง แล้วใช้มีดอาร์ตไนท์หนีบไว้ แล้วใช้มือหมุนเจาะนำร่อง แล้วค่อยใช้อาร์ตไนท์กรีดแนวร่องให้ทะลุเสมอกันอีกที (ระวังมีดเข้ามือ)

 

 

 

 

gunpla-tips-4-3 

ส่วนท้องจำเป็นต้องใช้พื้นที่ว่างทั้งหมดเพื่อเก็บสายไฟ จึงต้องตัดโครงในให้เหลือแต่แกนกลางชิ้นเล็กๆเอาไว้เชื่อมส่วน อกกับสะโพกเข้าด้วยกัน และใช้เกราะสีขาวด้านนอกครอบปิดสายไฟเอาไว้

 

 

 

เสริมความหนาให้ปีก เพื่อใส่ไฟ LED

gunpla-tips-4-4

ปีกเดิมที่ให้มา บางเฉียบมาก จนไม่มีพื้นที่วางสำหรับยัด LED Line จึงจำเป็นต้องเสริมความหนาของขอบปีกด้วย Epoxy ทำการพอกและปั้นให้สูงขึ้นมาอีก 3 เท่า ให้สามารถวาง LED Line ด้านในปีกได้ แล้วค่อยปิดด้วยปีกใสสีเหลืองชิ้นเดิม รอเวลาเมื่อ Epoxy แข็งตัวได้ที่แล้ว ก็ทำการขัดแต่งทรงด้วยตะไบและกระดาษทรายเบอร์ 400 ให้เรียบเนียนเสมอกัน

 

 

เสริมความยาวปีก

gunpla-tips-4-5

ไฟ LED Line ที่ใช้ในครั้งนี้จะเป็นเส้นยาวที่สามารถตัดให้สั้นลงได้ แต่ปัญหาคือต้องตัดไฟให้ลงล๊อค ซึ่งใน1ล๊อคจะมีไฟ 3 ดวง สำหรับปีกสั้น ใช้ไฟ 3 ดวงได้พอดีไม่มีปัญหา แต่สำหรับปีกยาวทั้ง 4 ชิ้นจำเป็นต้องใช้ไฟ 5 ดวงถึงจะสวย แต่ต้องตัดไฟให้ลงล๊อคเลยจำเป็นต้องใช้ความยาว 6 ดวง ซึ่งทำให้เลยความยาวปีกดั้งเดิม จึงจำเป็นต้องยืดความยาวให้ปีกด้วยการพอก Epoxy อีกเช่นเคย

 

 

โยงสายไฟจากทุกจุดเข้าด้วยกัน

gunpla-tips-4-6

เรื่องของการเดินไฟพื้นฐาน สามารถอธิบายคร่าวๆคือ ปลักไฟบ้านจะเรียกว่าไฟฟ้ากระแสสลับ มีแรงดันไฟฟ้าเท่ากับ 220 โวลต์ ซึ่งอันตรายมากสามารถโดนไฟดูดตายได้เลยควรระวังให้มากนะครับ แต่สำหรับงานต่อไฟกันดั้มจะใช้หม้อแปลงเพื่อปรับแรงดันจากไฟบ้าน 220 โวลต์ เหลือ 12 โวลต์(ไม่ดูด) และทำการแยกสายไฟขั่วบวก(แดง) ขั่วลบ(ดำ) ให้เสร็จสรรพกลายเป็นไฟฟ้ากระแสตรงที่พร้อมใช้งานโดยสมบูรณ์ 

 

 

gunpla-tips-4-8

ซึ่งไฟ LED Line ที่ใช้ครั้งนี้จะใช้แรงดันไฟ 12 โวลต์พอดี นั่นคือเมื่อต่อไฟขั่วบวกขั่วลบไฟก็สว่างทันที แต่หลอดไฟ LED ตัวเล็กบริเวณหัวและอก จะใช้ไฟแค่ 3 โวลต์เท่านั้น ถ้าต่อเข้ากับหม้อแปลง 12 โวลต์ แรงดันไฟที่สูงเกินจะทำให้หลอดขาดได้ จึงต้องติดตัวต้านทาน(R) ที่หลอดไฟซะก่อน เพื่อให้หลอด 3 โวลต์สามารถใช้ไฟจากหม้อแปลง 12 โวลต์ได้ การเชื่อมต่อสายไฟก็ใช้ หัวแร้ง ตะกั่ว ทำการบักกรีเชื่อมจุดต่างๆเข้าด้วยกัน (ความรู้พื้นฐานช่างไฟฟ้า)

 

 

 

Dimmer Light ตัวควบคุมความสว่าง

 gunpla-tips-4-7

ชิ้นงานที่ต่อไฟเรียบร้อยแล้วอาจจะให้แสงสว่างที่มากเกิน ยิ่งเป็นไฟแบบ LED จะให้แสงสว่างที่แสบตามาก ซึ่งเราสามารถลดความสว่างของหลอดไฟได้ด้วยการติดตัว ดิมเมอร์ ก่อนจ่ายไฟเข้าตัวหุ่น จะทำให้สามารถปรับความสว่างได้ตามต้องการ แต่ก่อนเลือกซื้อมาใช้ก็ควรตรวจดูแรงดันไฟที่ดิมเมอร์ให้ตรงกับหม้อแปลงที่ใช้ด้วย อย่างตัวที่ผมเลือกใช้จะใช้ได้กับไฟ 12v – 24v

 

 

 

แอร์บรัช คืออะไร ???

ปากกาแอร์บรัชถือเป็นอุปกรณ์พ่นสีประเภทหนึ่ง เหมาะที่จะใช้ในงานศิลปะขนาดเล็กที่มีความละเอียดอ่อนเช่น งานสักแทททู งานบอดี้เพ้น และงานโมเดลต่างๆ จุดที่แตกต่างจากการใช้สเปร์กระป๋องคือ สีจากแอร์บรัชที่เกาะชิ้นงานจะบางเบากว่ามาก และยังสามารถควบคุมขนาดของสีที่พ่นออกมาได้ด้วย โดยหลักการทำงานคือการพ่นลมจากสายยางที่ต่อแอร์บรัช และปล่อยสีอคิลิคออกจากกรวยสี คนที่ใช้แอร์บรัชจคล่องแล้วสามารถควบคุมน้ำหนักรีดสีเป็นเส้นเล็กๆได้สบายเลย

 

 

แอร์บรัชแบบ 1 จังหวะ และ แบบ 2 จังหวะ

gunpla-tips-4-(2)

แอร์บรัชตามท้องตลาดจะมีให้เลือกซื้อ 2 แบบหลักๆคือ แบบกด 1 จังหวะเมื่อกดแล้ว ลมจะออกมาพร้อมกับสีทันที ให้อารมณ์เหมือนสีสเปรย์กระป๋อง และแอร์บรัชแบบกด 2 จังหวะคือ จังหวะแรกเมื่อกดลงไปตรงๆจะเป็นการปล่อยลมออกมาอย่างเดียว และเมื่อต้องการปล่อยสีออกมากับลม ให้ดันแกนปุ่มมาข้างหลัง สีก็จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกับลม ซึ่งการใช้แอร์บรัชแบบ 2 จังหวะจะสามารถพลิกแพลงเทคนิคของลมและการปล่อยสีได้มากกว่า สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับชิ้นงานหลากหลายแบบ

 

*** การพ่นสีแอร์บรัชจะมีละอองสีที่เล็กมาก ซึ่งเป็นอันตรายกับร่างกาย ขณะทำงานควรหาอะไรมาปิดจมูกด้วยครับ

 

 

 

เครื่องปั้มลม

 

 gunpla tips_Mini_Air_Compressor

การพ่นสี จำเป็นต้องใช้แรงดันลมในการเป่าสีออกมา ซึ่งอุปกร์ปล่อยลมก็มีให้เลือกใช้มากมาย เช่น ลมอัดกระป๋องราคาหลักร้อยแต่ใช้ไม่นานลมก็หมดอันนี้ไม่แนะนำให้ใช้เพราะสิ้นเปลืองมาก สำหรับมือใหม่ที่งบน้อยแนะนำให้ใช้เครื่องปั้มลมแบบ Mini Compressor ราคาเริ่มต้นประมาณพันบาทเป็นต้นไป แรงดันลมอยู่ที่ประมาณ 1 Bar ซึ่งก็เพียงพอที่จะใช้พ่นไล่เฉดสีได้เหมือนกัน แต่สีที่พ่นออกมาจะค่อนข้างเบาและมีเส้นเล็ก เวลาพ่นเปลี่ยนสีชิ้นงานทั้งชิ้นอาจจะต้องพ่นย้ำๆหลายๆรอบหน่อย และเครื่องแบบนี้จะเดินเครื่องปั้มลมตลอดเวลา อาจส่งเสียงรบกวนคนข้างบ้านได้

 

gunpla-tips-4-(3)

สำหรับคนที่ใจรักและพอมีเงิน และมีกันดั้มที่รอพ่นสีมากกว่า 10 ตัวขึ้นไป แนะนำว่าให้ใช้เครื่องปั้มลมแบบมีถังพักลมไปเลยจะคุ้มกว่า ราคาเริ่มต้นประมาณ 5 พันบาท ซึ่งเครื่องประเภทนี้จะมีแรงดันลมเยอะมาก สามารถนำไปใช้เติมลมยางรถยนต์ได้สบาย แต่เอาจริงๆงานพ่นสีโมเดลใช้ลมไม่เกิน 3 Bar ก็เพียงพอแล้ว แต่สิ่งที่ได้คือถังแบบนี้จะเดินเครื่องปั้มลมทีเดียวแล้วเก็บลมไว้ในถังพัก ใช้พ่นสีทำงานได้ประมาณ 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เมื่อลมหมดเครื่องก็จะปั้มลมให้ใหม่ เสียงไม่ดังมาก ไม่รบกวนข้างบ้าน

 

*** การปั้มลมอาจจะเกิดละอองน้ำปะปนมากับลมที่เป่าทำให้งานเสียได้ จึงควรมีอุปกรณ์เสริมอย่างตัวดักไอน้ำไว้ใช้ด้วย ซึ่งรุ่นใหม่ๆจะมาพร้อมกับตัวปรับแรงดันด้วยเลย

 

 

ความสัมพันธ์ของแรงลมกับการปล่อยสี

gunpla-tips-4-(1x)

ก่อนที่จะพ่นชิ้นงานควรปรับขนาดลมให้พอดีกับขนาดชิ้นงานก่อน เช่น

 

แรงลม 1 Bar สำหรับพ่นชิ้นงานเล็กๆ หรือเป็นการพ่นบางๆเพื่อไล่เฉดสี

 

แรงลม 2 Bar สำหรับพ่นเปลี่ยนสีชิ้นงานทั้งชิ้น หรือพ่นเคลียเคลืบด้านเคลือบเงา

 

แรงลม 3 Bar สำหรับการเป่าลมทำความสะอาดชิ้นงาน หรือล้างสีทำความสะอาดแอร์บรัช

 

*** ยิ่งแรงลมมากเท่าไร ยิ่งต้องพ่นห่างชิ้นงานเท่านั้น ถ้าหากพ่นชิดไปสีจะเยิ้มทำให้งานเสียได้

 

 

 

การผสมสีอคลิลิค

 gunpla tips 4 airbrush (3) 

สีอคลิลิคเป็นสีที่เหมาะสำหรับพ่นโมเดลพลาสติกที่สุด ซึ่งก่อนที่จะทำการพ่นจำเป็นต้องพ่นสีรองพื้นพลาสติกก่อนเพื่อให้สียึดเกาะกับชิ้นงานได้ดีขึ้น ซึ่งสีรองพื้นพลาสติกจะเป็นสีใส ไม่ใช่สีเทาที่เป็นรองพื้นโลหะอันนั้นใช้ไม่ได้ ซึ่งสูตรการผสมสีสามารถใช้สีออคลิลิคขวดแก้วมาผสมกับทินเนอร์ให้ได้ความเหลวประมาณนมกล่องก็เป็นอันใช้พ่นได้ การปรับสีให้สว่างขึ้นเพื่อไล่เฉดดิ้ง ก็สามารถเติมสีขาวผสมลงไปในกรวยสีแอร์บรัช คนให้เข้ากัน แล้วลองพ่นใส่กระดาษเพื่อเช็คสีก่อนพ่นที่งานจริง

 

 

 

สีสเปรย์กระป๋องก็ใช้ได้

gunpla tips 4 airbrush (4)

สำหรับคนที่ขี้เกียจผสมสีกับทินเนอร์บ่อยๆ สามารถใช้สีสเปรย์กระป๋องได้เลย เพราะสีในกระป๋องชนิดนี้จะทำการผสมทินเนอร์มาให้พร้อมใช้งานเรียบร้อย วิธีการใช้ก่อนอื่นให้ใช้ตะปูเจาะลมออกจากกระป๋องให้หมดก่อน แล้วค่อยเทสีออกจากรูนั้นเพื่อใช้งาน และหลังจากใช้งานเสร็จแล้วก็ใช้ดินน้ำมันหรือเทปกาวปิดรูกระป๋องเพื่อเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป

 

 

 

การไล่เฉดสี

gunpla tips 4 airbrush (1) 

 

หลักการทำสีแบบนี้จะเป็นการไล่สีเข้ม จากจุดที่อยู่ลึกหรือข้อพับต่างๆ ไล่ระดับออกมาหาจุดที่เด่นชัด หรือจะพ่นสีอ่อนจากขอบเหลี่ยมไล่ระดับออกไปก็ได้ ซึ่งเทคนิคเพิ่มเติมคือการใช้กระดาษกาวมาปิดตามขอบมุมเพื่อไม่ให้สีมาโดนจุดที่เราต้องการ เมื่อพ่นเสร็จแล้วลอกการดาษกาวออกก็จะเกิดเป็นจุดตัดของเฉดสีที่ชัดเจน ดูสวยงาม สำหรับมือใหม่ควรฝึกซ้อมการพ่นสีกับกระดาษก่อนจะใช่พ่นที่ชิ้นงานจริงๆ

 

 gunpla tips 4 airbrush (2)

 พ่นสีปีกทูโทน ฟ้าขาว ตัดกันคมกริบ แล้วค่อยพ่นเฉดเงาของทั้ง 2 สีในภายหลัง

 

 

 

งานพ่นสี ตัดเส้นด้วยสีน้ำมัน Enamel

gunplatip-enanel-panel-line 

งานพ่นสีอคิลิค เวลาตัดเส้นควรเลือกชนิดของหมึกให้ดี เพราะถ้าใช้ปากาตัดเส้นสูตรทินเนอร์ แล้วใช้ทินเนอร์ลบรอยเส้นเลอะ จะทำให้สีที่พ่นมาพังได้ จึงควรเลือกใช้ Enamel : Panel Line สูตรน้ำมันของทามิย่าปลายหัวพู่กัน จุ่มหมึกซับทิชชูให้พอหมาดแล้ว แตะที่เส้นลวดลายต่างๆ น้ำหมึกจะไหลปรืดปราดไปตามร่องอย่างรวดเร็ว ส่วนรอยที่เลอะออกมาก็ใช้น้ำมันเบอร์ X-20 ชุบคัทตั้นบัทเช็ดออกได้ ซึ่งสีสูตรน้ำมันจะไม่ทำละลายสีอคลิลิคที่เราได้พ่นไว้ก่อนหน้า

 

 

 dxfreedom

DX แบบเดิม กับแบบใหม่พ่นสีไล่เฉดและติดไฟLED คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

 

 

 

และนี่คือผลงานที่ผ่านการติดไฟ LED และพ่นสีแอร์บรัชเรียบร้อยแล้ว

Gundam X Freedom

By Metalbridges

 

 

 

gunpla tips 4 photo (1)

gunpla tips 4 photo (18)

gunpla tips 4 photo (8)

gunpla tips 4 photo (6)

gunpla tips 4 photo (13)

gunpla tips 4 photo (16)

gunpla tips 4 photo (11)

gunpla tips 4 photo (17)    

gunpla tips 4 photo (12)

gunpla tips 4 photo (19) 

 

 

จากที่กล่าวไปตอนต้นว่า การต่อกันดัมนั้นคืองานศิลปะ จึงมีเทคนิคการสร้างผลงานอีกมากมายที่อาจจะได้กล่าวในตอนต่อไปเช่นเรื่อง การทำฉากจำลองสำหรับถ่ายภาพไดโอราม่า และอีกหลายเทคนิค ใครสนใจจะอ่านต่อ ช่วยแสดงตัวที่ด้านล่างด้วยนะครับ

 

 

By Webmaster

 

 

บทความ Gunpla Tips ทั้งหมด

Gunpla Tips#1 เทคนิคการต่อหุ่นกันดั้มเบื้องต้น Click

Gunpla Tips#2 เพิ่มความสมจริงด้วยการแกะลาย, ปิดรอยประกบ, สีพู่กัน, สีปากกา Click 

Gunpla Tips#3 เสริมพาร์ทด้วย Epoxy Putty , Plaplate 

Gunpla Tips#4 แอร์บรัช, ไล่เฉดสี , ติดไฟ LED

Gunpla Tips#5 การยืดสัดส่วน เพิ่มความสูงของกันพลา

Gunpla Tips#6 weathering /เทคนิคทำสีเสมือนจริง / สนิม

Gunpla Tips#7 Diorama /เทคนิคทำฉาก / แขวนหุ่นลอยได้